วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วิกฤตการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์

เหตุการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
      


สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328

สงครามเก้าทัพเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 3 ปี ในสงครามนี้ข้าศึกได้ยกกำลังพลประมาณ 144,000 คน เพื่อพิชิตไทยให้ได้ ถ้าเราพ่ายแพ้ก็ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก ดังนั้นสงครามครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของเมืองไทย

สงครามเก้าทัพเรียกตามจำนวนกองทัพที่พระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่า จัดแบ่งกำลังทหารเป็น 9 ทัพ เพื่อมาโจมตีไทยโดย ทัพที่ 1 โจมตีทางปักษ์ใต้ ทัพที่ 2 โจมตีเมืองราชบุรีลงไปทางใต้ ทัพที่ 3 โจมตีลำปางและหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมา ทัพที่ 4 ถึง ทัพที่ 8 มุ่งโจมตีกรุงเทพฯ โดยยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระเจ้าปะดุงเป็นแม่ทัพคุมทัพที่ 8 ซึ่งเป็นทัพหลวงมีกำลังมากที่สุดถึง 50,000 คน และทัพที่ 9 โจมตีเมืองตาก กำแพงเพชรลงมา แผนการรบของพระเจ้าปะดุง คือ โจมตีไทยทางเหนือ ทางตะวันตก และทางใต้พร้อมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ กรุงเทพฯ ให้ทัพที่ 3 และทัพที่ 2 ยกมาบรรจบกับทัพที่ 4 ถึงทัพที่ 8 เพื่อโจมตีกรุงเทพฯ


 การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญต่อไทย คือ เป็นการเปิดกว้างประเทศไทย ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยเริ่มการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสากล สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ทำให้ไทยถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเรื่องคนในบังคับต่างชาติ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ไทยเริ่มทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชาติตะวันตก คือ อังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2369 โดยเป็นสนธิสัญญาที่เท่าเทียมกันไม่มีชาติใดเสียเปรียบต่อกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2385 อังกฤษทำสนธิสัญญาหนานจิง (หรือนานกิง)กับจีน อังกฤษได้สิทธิพิเศษในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับอังกฤษเมื่อทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลและถูกลงโทษตามกฎหมายจีน และข้อกำหนดอัตราภาษีขาเข้าที่ต่ำและชัดเจน ซึ่งต่อมากำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 อังกฤษจึงต้องการปรับปรุงสนธิสัญญากับไทยให้ทำเหมือนอย่างจีน


 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ เหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาได้ประกาศปิดอ่าวไทย และยื่นข้อเรียกร้องจากไทย ทำให้ไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับถึง 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 1,605,000 บาท นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมากในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สืบเนื่องจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยมโดยฝรั่งเศสหลังจากได้เวียดนามและเขมรส่วนนอกหรือเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่ยึดครองลาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย เพื่อหวังใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวเป็นเส้นทางไปสู่จีนซึ่งเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2436 เมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงแตง (สตรึงเตร็ง) ทางใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมือคำมวน (คำม่วน) ใกล้เมืองนครพนม ซึ่งเป็นของไทย จนมีการสู้รบกัน ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการป้องกันประเทศ ทรงเร่งรัดการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าโดยทรงบริจาคเงิน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท ) เป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออาวุธสำหรับป้อม เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของชาติ ดังที่มีพระราชปณิธานว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตฉัน (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

   
 ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกเกิดขึ้น 2 ครั้ง และไทยก็เกี่ยวข้องทั้ง 2 ครั้ง คือ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461) ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ ของสงคราม โดยส่งทหารไปร่วมรบในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ทันได้ร่วมรบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สงบลง ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) มีผลต่อไทยโดยตรงและไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ของสงครามแม้ว่าไทยจะไม่ใช่สมรภูมิที่สำคัญ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียก็มีผลต่อไทยมาก

สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ คือ สงครามแปซิฟิก เพราะเกิดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก สงครามมหาเอเชียบูรพา เพราะญี่ปุ่นมีการตั้งวงไพบูลย์ร่วมมหาเอเชียบูรพา โดยมีการรณรงค์ตามคำขวัญว่า ทวีปเอเชียสำหรับชาวเอเชีย เพื่อขับไล่มหาอำนาจชาติตะวันตอกออกไปจากทวีปเอเชีย

            ขอขอบคุณ https://krujiraporn.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น